วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วัดหัวลำโพง พระอารามหลวง


  วัดหัวลำโพง  แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อวัดวัวลำพอง เป็นวัดราษฎร์ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้าง แต่คาดว่าคงสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ทั้งนี้โดยอาศัยการสันนิษฐานจากรูปทรงของอุโบสถหลังเก่าและเจดีย์ด้านหลัง ซึ่งสร้างคู่กันมา ความเป็นมาของวัดนี้ มีผู้รู้ประมวลไว้ โดยอาศัยจากการเล่าต่อๆ กันมาว่า ในปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลายเผาผลาญบ้านเมือง ประชาชนเสียขวัญและได้รับความเดือดร้อน บางพวกไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่ถิ่นเดิมต่อไปได้ จึงพากันอพยพครอบครัว ลงมาทางใต้ตั้งถิ่นฐานที่บริเวณวัดหัวลำโพงในปัจจุบัน เห็นว่าเป็นทำเลที่ เหมาะ ยังไม่มีเจ้าของถือกรรมสิทธิ์ มีลำคลองเชื่อมโยงสะดวกต่อการสัญจรไปมา จึงได้ตั้งหลักฐานและจับจองที่ดิน นานปีเข้าต่างก็มีหลักฐานมั่นคงเป็นปึกแผ่นทั่วกัน ต่อมาจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นตามวิสัยชาวพุทธ และให้ชื่อว่า วัดวัวลำพอง ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างทางรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือจากสถานีกรุงเทพฯ ขึ้นไปบริเวณนอกเมืองใกล้กับคูเมืองชั้นนอกคือคลองผดุงเกษม พระราชทานนามว่า สถานีหัวลำโพง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดวัวลำพอง ประมาณ ๒ กิโลเมตร และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระกฐิน 3 วัด คือ วัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) และวัดวัวลำพอง (วัดหัวลำโพง) และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดหัวลำโพง ซึ่งเป็นนามมิ่งมงคลเป็นอย่างมาก ปัจจุบันทางวัดเปิดให้ประชาชนทั่วไป มาทำบุญโลงศพ และไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกวัน






 เมื่อมาวัดนี้การทำบุญหนึ่งที่เป็นที่รู้จักนั้นก็คือ การทำบุญซื้อโลงศพ ให้แก่ศพไม่มีญาติ ซึ่งการบริจาคโลงศพนั้น เชื่อกันว่าจะได้อานิสงส์แรง จะช่วยเสริมดวงชะตาให้แข็งแกร่ง สามารถต้านเคราะห์ภัยหนักต่างๆและผ่อนหนักเป็นเบาได้  ราคาของโลงศพที่รับบริจาคนั้น ราคาโลงละ 500 บาท แต่หากไม่อยากทำทั้งโลง หรือเกินแก่กำลังก็สามารถบริจาคได้ตามกำลัง และสมัครใจ


























   สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่นิยมเรียกกันว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย และเป็นสถานีที่เก่าแก่ที่สุด สร้างในสมัย รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2453 สร้างเสร็จและเริ่มใช้งาน วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ในปัจจุบันสถานีรถไฟหัวลำโพง มีทางเชื่อมต่อที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ดูกลมกลืนกับรถไฟฟ้ามหานครหรือรถไฟฟ้าใต้ดินบริเวณถนนพระรามที่ 4 การก่อสร้างสถานีกรุงเทพ ก่อสร้างในลักษณะโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะแบบเรอเนสซองซ์ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี การประดับหลัก ประดับด้วยหินอ่อนและเพดานมีการสลักลายนูนต่าง ๆ โดยมีนาฬิกาขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ตั้งอยู่กลางสถานีรถไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งหนึ่ง





   ตัวสถานีแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ อาคารมุขหน้า มีลักษณะเหมือนระเบียงยาว และอาคารโถงสถานีเป็นอาคารหลังคาโค้งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก (Classicism) คือ เป็นงานเลียนแบบสถาปัตยกรรมโบราณของกรีก - โรมัน จุดเด่นของสถานีหัวลำโพงอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาซึ่งติดตั้งไว้กลางส่วนโค้งของอาคารด้านในและด้าน นอก โดยเป็นนาฬิกาที่สั่งทำขึ้นพิเศษเป็นการเฉพาะ ไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตเหมือนนาฬิกาทั่วๆ ไป





   บริเวณที่พักผู้โดยสารเป็นห้องโถงชั้นครึ่ง ชั้นล่างซึ่งมีที่นั่งจำนวนมาก มีร้านค้าหลากหลาย ได้แก่ ร้านอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ผลไม้ ขนมปัง ไอศกรีม หนังสือ ร้านขายยา ฯลฯ ก่อนถึงห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้ายังมีห้องละหมาดอีกด้วย เหนือห้องประชาสัมพันธ์มีจอภาพขนาด 300 นิ้ว ควบคุมด้วยระบบ DOLBY DIGITAL ฉายเรื่องราวเกี่ยวกับการรถไฟ ส่วนชั้นลอย มีที่นั่งไม่มากนัก มีบริษัททัวร์ บริษัทรับจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา และร้านกาแฟ